แข่งเรือเมืองน่าน

ประเพณีแข่งเรือ จังหวัดน่าน
ความเป็นมา/ความสำคัญ
ประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่โบราณ แต่ก่อนได้กำหนดว่าให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงานตานก๋วยสลาก (ถวายทานสลากภัต) หมู่บ้านใด วัดใด จัดให้มีงาน ตานก๋วยสลาก ก็ให้มีการเชื้อเชิญหมู่บ้าน และวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคีงานตานก๋วยสลากกับการแข่งเรือ เป็นประเพณีคู่กันมาแต่โบราณทางราชการจึงถือเอางานตานก๋วยสลาก ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวงกลางเวียงของน่าน เป็นการเปิดสนามการแข่งขันเรือของน่านราวปลายเดือนกันยายนในแต่ละปี และงานตานก๋วยสลากจะไปสิ้นสุดในวันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นการแข่งขันนัดปิดสนาม

เอกลักษณ์ของเรือเมืองน่าน
มีความงดงามไม่เหมือนเรือแข่งจังหวัดใดในประเทศไทย คือ เป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนหรือตะเคียนทองทั้งต้น ด้วยเชื่อกันว่ามีความทนทานและผีนางไม้แรง โดยเฉพาะเอกลักษณ์ตรงหัวเรือหรือโขนเรือ ที่แกะสลักเป็นหัวพญานาคแบบล้านนา กำลังแสยะเขี้ยวแสดงอำนาจ ส่วนท้ายเรือสลักเป็นหางของพญานาค มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เชื่อกันว่าพญานาคมีความศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ สามารถทำไร่ ทำนาได้ตามฤดูกาล ประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการแข่งเรืออยู่หลายอย่าง ที่สอดแทรกเป็นกุศโลบายในการสร้างความรัก ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนเมืองน่าน เช่น การบูชาสังเวยเทพอารักษ์ที่สิงสถิตอยู่ในไม้ตะเคียนที่จะนำมาทำเรือ เรียกว่า "ผีเรือ”หรือคนภาคกลางเรียกว่า "แม่เย่านางเรือ” เป็นความเชื่อและถือปฏิบัติกันมานาน การนำเรือลงสู่แม่น้ำในรอบปี หรือเวลาแข่งขันเรือต้องหาฤกษ์ หาวันและเวลา หรือแม้แต่หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลแข่งเรือแล้ว จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญและเลี้ยงผีเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลแม่คนในชุมชน หมู่บ้าน

การแข่งเรือเมืองน่าน
ถือได้ว่าเป็นการรวมน้ำใจ รวมจิตวิญญาณ ผสมผสานของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในชุมชนหมู่บ้านที่มีเรือ หากถึงเทศกาลแข่งเรือ ก็จะนำเรือลงน้ำ เพื่อฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน ชาวบ้านจะนำข้าวห่อ เงินทองมาช่วยกันสนับสนุนเรือของหมู่บ้านของตน จึงถือได้ว่า "การแข่งเรือเมืองน่าน ถือเป็นสมบัติ เป็นมรดกของคนน่านทั้งจังหวัด ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง”
การแข่งเรือในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท
ประเภทเรือสวยงามและประเภทเรือเร็ว โดยที่เรือสวยงามนั้น จะเน้นการตกแต่งเรือให้มีรูปร่างต่างๆ อย่างสวยงามและมีความหมายที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน เช่น บางหมู่บ้านจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็จะมีการตกแต่งเป็นวัด และงาช้างดำ แล้วประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ในขณะที่บางลำอาจมีการแสดงศิลปะพื้นบ้านของเมืองน่าน เช่น ฟ้อนล่องน่านซอล่องน่าน หรือดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งจะบ่งบอกความเป็นเมืองน่านในทุกตารางนิ้วของการตกแต่งเรือเลยทีเดียว เรือประเภทสวยงามนี้จะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี